หน้ารวมข่าว อุบัติเหตุ อาชญากรรม การเมือง เศรษฐกิจ บันเทิง การศึกษาและเยาวชน สิ่งแวดล้อม ประชาสัมพันธ์ ทั่วไป
 
ปปช.ยัน นายก อบจ.ราชบุรี ไม่ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ หลังศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับฟ้องมันฯ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 สำนักข่าวอิศรา ได้รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือตอบข้อหารือผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กรณีการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา หรือ กำนันตุ้ย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 รับฟ้องคดีกล่าวหาทุจริตในการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามโครงการแทรกแซงตลาด มันสำปะหลังปี 2551/2552 ครั้งที่ 9 เพื่อใช้ภายในประเทศ ซึ่งปรากฏชื่อนายวิวัฒน์ เป็นหนึ่งในจำเลยคดีนี้ด้วย

"สำนักงาน ป.ป.ช. ยืนยันว่า นายวิวัฒน์ ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายก อบจ. ราชบุรี เนื่องจากขณะกระทำความผิด ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่อาจนำบทบัญญัติตามมาตรา 93 วรรคสอง ประกอบมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริต พ.ศ. 2561 มาบังคับใช้ได้ " แหล่งข่าวระบุ

สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในหนังสือ สำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งตอบข้อหารือผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีกรณีดังกล่าว ระบุว่า ตามที่จังหวัดราชบุรี มีหนังสือขอหารือข้อกฎหมายกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ได้มีคำสั่งประทับฟ้องนายวิวัฒน์ นายก อบจ.ราชบุรี ในความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542(พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 11 , 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 โดยขณะกระทำความผิด นายวิวัฒน์ ไม่ได้เป็นผู้บริหารท้องถิ่น ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หรือไม่ อย่างไร

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ขณะกระทำความผิดนายวิวัฒน์ ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การเข้าดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ราชบุรี ซึ่งมีสถานะเป็นผู้บริหารท้องถิ่น และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เป็นการเข้ารับตำแหน่งภายหลังจากการกระทำความผิดที่เป็นเหตุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด และศาลได้มีคำสั่งประทับฟ้องไว้ ดังนั้น จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามมาตรา 93 วรรคสอง ประกอบมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาใช้บังคับนายวิวัฒน์ได้

นายวิวัฒน์ จึงไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 93 วรรคสอง ประกอบมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

อนึ่งเกี่ยวกับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอข่าวไปแล้วว่า นายภัทรพงศ์ ศุภักษร ทนายความ /กลุ่ม "คนรุ่นใหม่ประชาธิปไตยบริสุทธิ์" ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อ นายอนุทิน ชาญวีระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่า นายวิวัฒน์ ตกเป็นจำเลยที่ 9 ในคดีเดี่ยวกับ นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ภรรยา สส.ราชบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 1 สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2567 หลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 คดีกล่าวหาทุจริตในการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามโครงการแทรกแซงตลาด มันสำปะหลังปี 2551/2552 ครั้งที่ 9 เพื่อใช้ภายในประเทศ จึงขอให้ นายอนุทิน ชาญวีระกูล ตรวจสอบข้อเท็จจริง และอาจนำไปสู่การสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ขณะที่คดีกล่าวหาทุจริตในการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังดังกล่าว สำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ระบุว่า เอกชนที่ผู้ชนะการเสนอราคามันสำปะหลัง ในสต็อกรัฐบาล 3 ราย คือ 1. บริษัท กาญจนพันธ์ ฟาร์ม จำกัด โดยนางกัลยา ศิริพลวุฒิกุล กรรมการผู้มีอำนาจ จำนวน 7 คลัง 2. ไพรสะเดาฟาร์ม โดยนายอริยนัทธ์ รังสีเสริมสุข จำนวน 2 คลัง และ 3. หนองลังกาฟาร์ม โดยนางเสาวลักษณ์ เย็นใส จำนวน 5 คลัง มีผลประโยชน์ร่วมกันและเกี่ยวข้องทางเครือญาติหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ที่ปรึกษานางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ในการจำหน่ายมันฯ ให้แก่ บริษัท กาญจนพันธ์ ฟาร์ม จำกัด ตั๋วแลกเงินที่ใช้เป็นหลักประกันสัญญาเป็นตั๋วแลกเงินที่ซื้อโดยบริษัท กาญจนาฟาร์ม จำกัด ที่มีนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา และสามี คือ นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา เป็นเจ้าของ อีกทั้งการชำระเงินค่ามันสำปะหลังก็เป็นการดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทของนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา

อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก

ข้อมูลข่าวโดย สำนักข่าวอิศรา

อ่านให้คุณฟัง
ราชบุรีเจ็ดหมื่น ส่งข้อมูล - ข่าวสาร - ประชาสัมพันธ์ ได้ที่ rb70000rb@gmail.com