หน้ารวมข่าว อุบัติเหตุ อาชญากรรม การเมือง เศรษฐกิจ บันเทิง การศึกษาและเยาวชน สิ่งแวดล้อม ประชาสัมพันธ์ ทั่วไป
 
ทำความรู้จัก "ปลาหมอคางดำ" เอเลี่ยนสปีชีส์ ระบาดหนักในแม่น้ำแม่กลองและคลองสาขา ปลาท้องถิ่นเตรียมสูญพันธุ์

ปลาหมอสีคางดำ หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่กำลังแพร่กระจาย สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน

ลักษณะคล้ายปลาหมอเทศโดยเฉพาะในปลาระยะวัยอ่อน เมื่อโตเต็มวัยจะสังเกตได้ชัดขึ้น จัดอยู่ในครอบครัว Cichlidae เช่นเดียวกับปลาหมอเทศ ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา พบแพร่กระจายอยู่บริเวณชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีการนำเข้าพันธุ์ปลาหมอคางดำในหลายประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีรายงานเข้ามาตั้งแต่ปี 2553 ถือเป็นปลาจำพวกเอเลี่ยนสปีชีส์ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำท้องถิ่น

ปลาหมอคางดำส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่บริเวณปากน้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน จนถึงบริเวณชายฝั่งทะเล สามารถทนความเค็มได้สูงและทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มในวงกว้าง นอกจากนี้ยังพบปลาชนิดนี้ในพื้นที่น้ำจืด แม่น้ำ และทะเลสาบน้ำจืด ในบริเวณที่มีกระแสน้ำไม่ไหลแรง กล่าวคือปลาชนิดนี้สามารถอยู่ได้ในน้ำเกือบทุกประเภท

ปลาชนิดนี้สามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยกิจกรรมการผสมพันธุ์อาจจะลดลงในช่วงที่มีฝนตกหนัก มีกระแสน้ำแรง และมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรวดเร็ว ปลาหมอคางดำสมบูรณ์เพศและวางไข่ได้รวดเร็ว แม่ปลา 1 ตัว สามารถให้ไข่ได้ประมาณ 50 – 300 ฟอง หรือมากกว่าโดยขึ้นกับขนาดของแม่ปลา การฟักไข่ของปลาหมอคางดำใช้เวลาฟักประมาณ 4 – 6 วัน และพ่อปลาจะดูแลลูกปลาโดยการอมไว้ในปากนานประมาณ 2 – 3 สัปดาห์

ปลาหมอคางดำกินทั้งพืช สัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร นอกจากนี้ปลาหมอคางดำยังชอบกินลูกกุ้งทะเล โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งแชบ๊วย รวมถึงลูกปลาวัยอ่อน ปลาหมอคางดำมีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า มีระบบย่อยอาหารที่ดี สามารถย่อยกุ้งได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 นาที เป็นสาเหตุว่าทำไมปลาหมอคางดำถึงมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนิสัยค่อนข้างดุร้ายถ้าเทียบกับปลาหมอเทศ

ปลาหมอคางดำเข้ามาในพื้นที่แม่น้ำแม่กลองเยอะมาก โดยเฉพาะ จ.สมุทรสงครามพบมาก ส่งผลให้ปลาท้องถิ่นเริ่มลดจำนวนลง อาจถึงขึ้นสูญพันธ์ก็เป็นได้หากไม่มีการแก้ไข เพราะปลาปลาหมอคางดำกินปลาที่เป็นปลาพื้นถิ่นเกลี้ยงหมด ไม่ว่าจะเป็นกุ้งหรือปลา ตัวเล็กตัวใหญ่ไม่เหลือเลย

ทั้งนี้ หลังจากพบที่จ.สมุทรสงครามแล้ว ตอนนี้ เริ่มระบาดขึ้นมาทางเหนือของแม่น้ำแม่กลอง โดยเฉพาะพื้นที่คลองต่าง ๆ ของ อ.เมือง / อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี จะเริ่มพบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ที่วิกฤติก็คือ คลองในอำเภอบางแพ มีรายงานการพบเป็นจำนวนมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นคลองที่เชื่อมมาจากแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดเริ่มต้น

อ่านให้คุณฟัง
ราชบุรีเจ็ดหมื่น ส่งข้อมูล - ข่าวสาร - ประชาสัมพันธ์ ได้ที่ rb70000rb@gmail.com