หน้ารวมข่าว อุบัติเหตุ อาชญากรรม การเมือง เศรษฐกิจ บันเทิง การศึกษาและเยาวชน สิ่งแวดล้อม ประชาสัมพันธ์ ทั่วไป
 
ผู้ตรวจการแผ่นดินติดตามการบังคับใช้กฎหมายกรณี โรงงานประกอบกิจการก่อเกิดผลกระทบต่อประชาชน ที่จ.ราชบุรี

วันที่ 3 ก.ค. 2567 นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะ และนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่จ.ราชบุรี ติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง การบังคับใช้กฎหมายกรณีการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ที่ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการขนย้ายถังสารเคมีกากอุตสาหกรรม การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีนายณัชวันก์ อัลภาชน์ เตชะเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมลงพื้นที่และสรุปผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วย

โดยนายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการติดตามการแก้ไขปัญหาสืบเนื่องจากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมแห่งนี้ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่ระหว่างดำเนิดการนั้นได้มีการประสานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขนย้ายสารเคมีซึ่งมีความคืบหน้ามีการขนย้ายไปแล้วกว่า 12,500 ตัน แต่ยังมีบางส่วนที่ถูกฝังกลบอยู่ใต้ดินประมาณ 7,000 ตัน กรมโรงงานฯจะดำเนินการและจะของบประมาณกลางในการดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งจะร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความคืบหน้า โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีการเสนอให้ตั้งกองทุนเพื่อชดเชยเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน

จากการตรวจสอบภายในโรงงานพบว่ามีการขนย้ายถังสารเคมีไปส่วนหนึ่งแล้ว ส่วนถังสารเคมีที่เหลือ ยังมีปัญหาการซึมรั่วไหลของน้ำสารเคมีที่ยังค้างอยู่ และมีจุดที่ชาวบ้านในพื้นที่กังวลคือบริเวณบ่อพักน้ำเสีย รวมถึงจุดฝังกลบกากอุตสาหกรรม ซึ่งติดกับแหล่งน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านชุมชนใกล้เคียงใช้ ทำให้ได้รับผลกระทบต้องแบกรับภาระต้องซื้อน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ได้รับความเดือดร้อนทั้งด้านสุขภาพและการทำการเกษตร โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้กำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ เร่งดำเนินการเคลียพื้นที่ในส่วนที่ยังพบปัญหาตกค้างและเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบข้างต้นโดยเร็วต่อไป จากนั้นคณะเดินทางไปแหล่งชุมชนและบริเวณที่ทำกินและการเกษตร ตำบลน้ำพุ ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ พบว่ายังมีปัญหามลภาวะทางกลิ่นที่อาจเกิดจากการปนเปื้อนจากสารเคมี และยังได้รับการสะท้อนปัญหาการขนย้ายถังสารเคมียังล่าช้า และยังไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ

ด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวถึงการดำเนินการขนย้ายสารเคมีในโรงงานแห่งนี้ว่า ระยะต่อไปกรมโรงงานฯได้ของบประมาณปี 2568 ได้รับจัดสรรมา 30 ล้านบาท งบประมาณส่วนหนึ่งจะนำมาใช้สำรวจพื้นที่ทั้งหมดเพื่อให้ทราบจำนวนที่แน่ชัด จากนั้นจะของบประมาณกลางจากรัฐบาลมาดำเนินการต่อไป ส่วนการเรียกร้องเงินจากผู้ประกอบการนั้นจะต้องใช้กฎหมายอาญา รวมถึงกฎหมายการฟอกเงิน ว่าข้อไหนจะเข้าข่ายความผิด

จากนั้นในช่วงบ่าย นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ร่วมประชุมกับ ส่วนราชการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังผลการดำเนิน และติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายกรณีการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ทั้งนี้กรณีการดำเนินการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากปัญหามลพิษ กองกฎหมาย กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เพื่อกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมและกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องวางหลักประกันความเสียหาย

อ่านให้คุณฟัง
ราชบุรีเจ็ดหมื่น ส่งข้อมูล - ข่าวสาร - ประชาสัมพันธ์ ได้ที่ rb70000rb@gmail.com