หน้ารวมข่าว อุบัติเหตุ อาชญากรรม การเมือง เศรษฐกิจ บันเทิง การศึกษาและเยาวชน สิ่งแวดล้อม ประชาสัมพันธ์ ทั่วไป
 
กรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจประเมิน ศพก. ดีเด่นระดับประเทศ ที่จ.ราชบุรี

วันที่ 5 ส.ค. 2567 นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมคณะกรรมการประกวดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ดีเด่นระดับประเทศ ลงพื้นที่ ศพก. เครือข่ายการผลิตมะพร้าวครบวงจร ต.แพงพวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เพื่อคัดเลือกให้เป็น ศพก.ดีเด่นระดับประเทศ มีนายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมติดตามการประกวดในครั้งนี้ โดยจะคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบที่มีผลงานดีเด่นในการบริหารจัดการศูนย์ฯ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เป็นตัวอย่างในการขยายผลส่งเสริมการเกษตร การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตร

ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.เครือข่าย) การผลิตมะพร้าวครบวงจร แห่งนี้มีนางสาวนวลลออ เทอดเกียรติกุล เป็นประธาน ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบที่มีความเป็นผู้นำ เป็นผู้ที่มีความพร้อมด้านองค์ความรู้มีความรู้ทางวิชาการด้านมะพร้าวน้ำหอม ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นต้นแบบให้กับเครือข่าย ศพก. ทั้งในอำเภอ และต่างจังหวัดมีการใช้นวัตกรรมชั้นสูงในการตรวจ DNA สายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม ซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษา มีการใช้นวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ร่วมกับสถาบันอาหาร และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มีการพัฒนาในส่วนงานของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ร่วมกับสถาบันการศึกษา และศูนย์วิจัยอื่น ๆ เพื่อนำนวัตกรรมที่ได้มาปรับใช้กับวัสดุเหลือใช้ภาคการเกษตรให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้น ตามหลักการดำเนินงานรูปแบบ BCG Economy Model. เป็นผู้ที่มีความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้ มีทักษะการเป็นวิทยากรได้ดีในทุกมิติ ที่พร้อมรองรับกลุ่มผู้เข้าอบรมทุกกลุ่มเป็นที่ยอมรับจากชุมชน / เครือข่าย และหน่วยงานต่าง ๆ มีจิตอาสาและเสียละช่วยเหลือสังคม

ศพก. มีทำเลที่ตั้งเข้าถึงได้ง่าย มีการวางแผนผังศูนย์ที่ดี มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีแปลงเรียนรู้สำหรับให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์การทำปุ๋ยหมัก การเลี้ยงชันโรง การกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ในการดูแลแปลงของตนเองได้ มีการนำงานวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหาการผลิตในชุมชน โดยนำวัสดุเหลือใช้มาหมุนเวียน โดยนำเปลือกมะพร้าว ทางมะพร้าวมาเป็นวัสดุในการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ และร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการนำเปลือกมะพร้าวผ่านนวัตกรรม ออกมาเป็นวัสดุปรับปรุงดินจาก ไบโอชาร์ และคอนกรีตที่มีส่วนผสมจาก ไบโอชาร์ ซึ่งสามารถถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนเพื่อลดเปลือกมะพร้าวในพื้นที่ทำให้เกษตรกรทั้งในและนอกจังหวัดที่ผ่านการอบรมและศึกษาเรียนรู้จากศพก. แห่งนี้ มีแนวทางในการต่อยอดการทำการเกษตร ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง มีรายได้เพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามวัตถุประสงค์ของ รางวัลเกษตรกรต้นแบบ ศพก.ดีเด่น ระดับประเทศ

อ่านให้คุณฟัง
ราชบุรีเจ็ดหมื่น ส่งข้อมูล - ข่าวสาร - ประชาสัมพันธ์ ได้ที่ rb70000rb@gmail.com