ด้านโฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง ชี้แจงข้อเท็จจริง คือ โรงงานเภสัชกรรมทหาร เกิดขึ้น พ.ศ. 2484 – 2488 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่การผลิตยาเพื่อช่วยเหลือประชาชน และ ทหารในภาวะสงคราม จนปัจจุบันยังอยู่ในสังกัดปลัดกระทรวงกลาโหม ผลิตยาเพื่อใช้ในกองทัพ และที่ผ่านมาโรงงานเภสัชกรรมทหาร ช่วย GPO องค์การเภสัชกรรม ภายใต้กำกับของกระทรวงสาธารณสุข ผลิตยาใช้ในยามวิกฤต เช่น ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 ที่องค์การเภสัชกรรมผลิตยาไม่ทัน เช่นกัน
สำหรับการของบเพื่อสร้างโรงงานเภสัชแห่งใหม่นั้น แรกเริ่มเดิมที โรงงานเภสัชกรรมทหารนั้นมีอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่มีการของบประมาณ 938 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 นี้ขึ้นมา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า เป็นเพราะเหตุผลด้านความมั่นคง ต้องการขยายกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลตัวเองของประเทศ ยามเกิดภัยสงครามจะได้มียาใช้อย่างเพียงพอ
โดยจากการชี้แจงของตัวแทนกองทัพ ปัจจุบัน โรงงานเภสัชกรรมทหารผลิตยาได้ 20 รายการ และหากมีการสร้างโรงงานใหม่จะเพิ่มเป็น 35 รายการ แต่ทว่าในแคตาล็อกของโรงงานกลับระบุว่า ปัจจุบันมีการผลิตและจำหน่ายยาไปแล้ว 63 รายการ
ผู้ชี้แจง ยังระบุอีกว่า การก่อสร้างเพื่อขยายกำลังการผลิตโรงงานแห่งที่ 2 ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จะทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัวจาก 1,032 ตารางเมตรเป็น 2,400 ตารางเมตร และจะมีกำลังผลิตยามากขึ้นถึง 3.3 เท่าตัว จากที่ผลิตได้ 180 ล้านเม็ดต่อปี เพิ่มเป็น 600 ล้านเม็ดต่อปี |