ทั้งนี้ กรมได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดกิจกรรม “ส่งเสริมไม้ยืนต้น หลักประกันทางธุรกิจ” โดยนำผู้เชี่ยวชาญด้าน กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจและโครงการธนาคารต้นไม้ ลงพื้นที่ จ.ราชบุรี เพื่อเสริมความรู้เรื่องกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจแก่เกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งรายละเอียดการนำไม้ยืนต้นที่ปลูกในพื้นที่มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. และยังมีกิจกรรมสาธิตการประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นและการประเมินการกักเก็บคาร์บอนเครดิตของต้นไม้อีกด้วย
“การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เหมือนเป็นการเปิดประตูบานใหม่ให้เกษตรกรไทย ที่สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน และตระหนักรู้ถึงคุณค่าของไม้ยืนต้น โดยไม้ยืนต้นเพียงต้นเดียวก็สามารถสร้างมูลค่า และเป็นทรัพย์สินที่นำมาใช้เป็นหลักประกันการขอสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจได้โดยไม่จำเป็นต้องตัดไม้ ทำลายป่ารวมทั้งยังสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเครดิตที่เป็นสินค้าในอนาคตที่ภาคธุรกิจทั่วโลกต้องนำมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและที่ทุกภาคส่วนของโลกต่างมุ่งไปที่เศรษฐกิจสีเขียว”นางอรมนกล่าว
สำหรับกิจกรรม “ส่งเสริมไม้ยืนต้น หลักประกันทางธุรกิจ” ได้รับความสนใจจากเกษตรกรและผู้ประกอบการในจังหวัดราชบุรีเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรต้องการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและธุรกิจโดยไม่จำเป็นต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ไปทำธุรกิจ รวมถึงเข้าใจแนวโน้มการประกอบธุรกิจในอนาคต นำไปสู่การขยายผลไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป
ปัจจุบันมีผู้นำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 26 จังหวัด จำนวนกว่า 159,000 ต้น (159,761 ต้น) วงเงินค้ำประกันรวมกว่า 164 ล้านบาท (164,435,068.04 บาท) โดยเกษตรกรจังหวัดราชบุรีได้มีการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันกับ ธ.ก.ส. แล้ว จำนวน 2 ราย คือ ที่อำเภอโพธาราม จำนวน 26 ต้น วงเงิน 271,569 บาท และอำเภอปากท่อ จำนวน 18 ต้น วงเงิน 10,336 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.2567)
|