วัดใหญ่นครชุมน์ "บ้านโป่ง" วัดสมัยพระเจ้าบรมโกศ-ไหว้พระชาวมอญ

วัดใหญ่นครชุมน์ ตั้งอยู่ที่ ต.นครชุม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2295 สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงศรีอยุธยา (ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) และเมื่อครั้งที่พระยาทองผาภูมิ (ธอ เสลานนท์) รัชสมัยรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินทน์ ได้แยกออกจากกลุ่มพระยามอญทั้งเจ็ดมาตั้งรกรากที่รอบวัดใหญ่นครชุมน์ มีส่วนสนับสนุนบูรณะวัดให้เจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางในการทําสังฆกรรมของวัดมอญในเขตอําเภอบ้านโป่ง วิหาร ชาวมอญเรียกเป็นภาษารามัญว่า “ปากี” ลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทยสร้างอยู่บนฐานก่ออิฐถมดิน ฐานก่ออิฐสี่เหลี่ยมนี้เดิมมีผู้จะสร้างเป็นพระสถูปเจดีย์มอญขนาดใหญ่แบบพระมุเตาขึ้นเพื่อให้เป็นประธานของวัด แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงเหลือให้เห็นแค่ฐานพระสถูปอิฐรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ต่อมามีการสร้างวิหารขึ้นบนฐานเป็นอาคารไม้ทรงไทย พอขึ้นวิหาร จะเจอป้ายป้ายไม้เขียนอักษรรามัญและไทยว่า “พระอธิการเข่งได้บํารุงขึ้นครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2479”

บริเวณโดยรอบของวิหาร จะพบเจดีย์มอญทั้ง 4 มุมและเจ้าแม่กวนอิมร้อยองค์ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ประทับบนบัลลังก์ที่พนักบัลลังก์ประดับกระจกสีนําเงิน องค์ที่สองเป็นพระพุทธรูปสําริดปางประทานพร ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้ว ที่พระเศียรมีเครื่องประดับคล้ายพระพุทธรูปในศิลปะพม่า ด้านหน้ามีรูปปั้นอุบาสกชาวมอญ 2 คน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประติมากรรมเล่าเรื่อง พุทธประวัติ ตอนหลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ แล้วได้ประทานพระเกศาให้แก่พ่อค้า 2 คน คือ ปาลิยะภัทรลิกะ เป็นพุทธประวัติตอนหนึ่งที่ชาวมอญ-พม่านิยมกันมาก โดยมีเรื่องเล่าว่าต่อมาพ่อค้าทั้งสองได้นํา พระเกศาธาตุนั้น ไปบรรจุไว้ในการสร้างพระเจดีย์ชเวดากอง ส่วนพระพุทธรูปองค์ที่สามเป็นพระพุทธรูปสําริดปางสมาธิ ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้ว สมัยรัตนโกสินทร์ แบบศิลปคันธารราฐ

ภายในวัดประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ

+ องค์สมเด็จพระปฐมเทศนา เป็นพระขาวตั้งอยู่หลังวัด โดยมีความสูงจากฐานถึงยอด ประมาณ 4 - 5 เมตร

+ วิหารหลวงพ่อชุ่ม ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นมาเมื่อใด ภายในประดิษฐานองค์หลวงพ่อชุ่ม ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังและเป็นอดีตเจ้าอาวาส รวมทั้งประดิษฐานพระพุทธนิมิต ปางมหาจักรพรรดิ์ เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ อยู่คู่กับวัดมานาน

+อุโบสถของวัด ถือว่า เป็นโบสถ์เก่าแก่มากอยู่ข้างอุโบสถหลังใหม่ ด้านหน้า จะมีเจดีย์โบราณ ส่วนโบถส์หลังใหม่ สร้างขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2538 นอกจากจะได้ไหว้พระประธานในโบสถ์แล้ว ภาพวาดจิตรกรรมถือว่างดงามมาก

การเดินทางหากมาจากอำเภอบ้านโป่ง ใช้ถนนบ้านปากแรต มาทางสี่แยกบ้านโป่ง เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง ใช้ถนนเลข 3089 (บ้านโป่ง-หนองปลาหมอ) จนมาถึงวงเวียนหนองปลาหมอ ใช้ถนนหนองปลาหมอ - บ้านหนองเป็ด มาประมาณ 4 - 5 กิโลเมตร มาถึงแยกทางเข้าวัดเขาขลุง ใช้ถนนในหมู่บ้านเข้ามาอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะเจอทางเข้าวัด